การถ่ายพลุ ด้วยเทคนิค TSB fireworks (Time and Stepfocus with shutterBulb fireworks) พี่ตี๋เอากล้อง Canon EOS R6 ไปถ่าย ด้วยฟังก์ชั่นของกล้องทำให้ได้ภาพง่ายมาก ๆเลยเอาเทคนิคนี้มาแชร์ให้ทุกคนที่อยากลองนำไปใช้กัน
เหมาะกับใครที่เบื่อถ่ายพลุแบบเดิม ๆ รับรองว่าสิ่งที่ได้จากการลองถ่ายพลุแบบนี้คือ ความสนุก ตื่นเต้น ที่หาไม่ได้จากการถ่ายพลุแบบปกติ
จากที่แต่เดิมเราจับแต่สายลั่นชัตเตอร์ ห้ามจับกล้อง แล้วกดชัตเตอร์ตามจังหวะพลุไปเรื่อย ๆ ได้ภาพพลุที่ใกล้เคียงที่ตาเห็น แบบใหม่นี้สนุกตรงที่เราจะจับกล้องตลอดเวลา และในบางภาพเราต้องหมุนหัวบอล หมุนระยะซูมเพื่อปรับเฟรมภาพโดยเดาล่วงหน้าว่าพลุจะอยู่ตรงไหนของท้องฟ้า ได้ภาพที่ต่างจากตาเห็นมาก ๆ รับรองว่าจะสร้างความตื่นเต้นตลอดการถ่ายภาพพลุแบบไม่เคยรู้สึกมาก่อน ขนาดกำลังเขียนบทความนี้ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเลย
ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนสนุกกับการถ่ายพลุ และแชร์ภาพสวย ๆ ให้รู้ว่าคนไทยมีเทคนิคถ่ายภาพพลุที่สวยไม่แพ้ใครในโลก ผ่านแฮชแท็ก #TSBfireworks #Defocusedfireworks จะได้มีคำที่เอาไว้ค้นหาพลุสวย ๆ กันรอชมผลงานจากเพื่อน ๆ ทุกคนนะครับ
ในบทความนี้ส่วนแรกเป็นวิธีถ่ายแบบสรุปสั้น ๆ ทำตามได้เลย ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพพลุ #TSBfireworks แบบละเอียด ๆ มี Before After สามารถอ่านต่อเนื่องไปได้เลย สำหรับใครที่ต้องการละเอียดกว่านี้ มีทั้งตัวอย่าง วีดีโอสาธิต และจำลองสถานการณ์จริง เพื่อไม่ให้พลาด(ไม่ได้จุดพลุกันบ่อย ๆ เนอะ) สามารถลงทะเบียนเรียนวิธีการถ่ายพลุ ตาม Line @teeshutterb หรือ ปุ่ม add line หน้าเวปได้เลย
ปล. วิธีที่แนะนำในบทความนี้สามารถทำได้ 2 วิธี ยาก และ ง่าย เลือกได้ตามถนัดเลยครับ (1.จบหลังกล้อง ดังภาพตัวอย่าง 2.ใครที่ไม่แคร์เรื่องนั้นก็สามารถถ่ายผสมพลุ แล้วนำพลุมาผสมกันได้เหมือนพลุที่เรา ๆ ถ่ายมาแบบปกติ )
สำหรับท่านที่ไม่เคยมีพื้นฐานการถ่ายพลุสามารถค่อย ๆ เข้าไปดูพื้นฐานตามลิ้งค์ ซึ่งจะเข้ามาอัพเดทเรื่อย ๆ ให้อ่านครับ
วิธีถ่ายพลุฉบับลัด 10 นาที จบ !! (รออัพเดท)
ถ่ายพลุให้ไร้ที่ติ ด้วย Filter (รออัพเดท)
อุปกรณ์ที่แนะนำ
ไม่จำเป็นต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์แนะนำให้ใช้ปุ่มชัตเตอร์ที่ตัวกล้องได้เลย
โดยภาพในทริปนี้พี่ตี๋ใช้กล้อง Canon EOS R5, EOS R6 เพราะเหมาะกับการถ่ายภาพแบบนี้มากเพราะเป็นกล้องที่
- หน้าจอแสดงระยะโฟกัสเป็นสเกลที่ละเอียดมาก (สเกลเหมือนที่ตัวเลนส์) แต่เมื่ออยู่ที่หน้าจอทำให้เราสามารถมองเห็นในที่มืดได้ มองได้ถนัดกว่า ทำให้เลือกระยะโฟกัสได้อย่างแม่นยำ
- หน้าจอที่สามารถบิดได้หลายองศาทำให้สามารถมองเห็นได้สะดวกแม้ถ่ายแนวตั้ง
เลนส์ RF 24-105 F4L IS USM
เป็นเลนส์นอมอลซูมได้ เป็นระยะที่เหมาะกับการถ่ายคอนเซปที่คิดไว้ สามารถปรับเฟรมตามสถานการณ์ได้ดีแถมยังเป็นเลนส์คิทที่มีทุกคน ภาพที่ออกมาขนาดของคนและพลุบาลานซ์กันพอดี
และเลนส์อีกสองตัว คือ RF 16mm f2.8 STM , RF100-400mm F5.6-8 IS USM ที่เอามาทดสอบว่าถ่ายออกมาเป็นอย่างไร
ขาตั้งกล้อง จะใช้ขาตั้งแบบตั้งโต๊ะ หรือ ขาตั้งปกติก็ตามแต่มุมที่ต้องการได้
หาจุดถ่ายภาพที่เหมาะสม
ในทริปนี้เราไปถ่ายที่พัทยา บริเวณหน้าหาด เป็นจุดถ่ายที่เหมาะมาก เพราะว่าเทคนิคนี้จะเบลอพลุเป็นโบเก้ พี่ตี๋ไม่อยากให้ฉากหลังของภาพมีดวงไฟมากวนตัวพลุ ยิ่งเมื่อเราบิดภาพให้พลุเบลอมากเท่าไหร่ดวงไฟก็จะกวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในทริปนี้เลยไม่ได้ลอง RF100-400mm f/5.6-8 IS USM ถ่ายพลุ เพราะเราอยู่ใกล้พลุมาก หากใครต้องการใช้ระยะเทเลแนะนำให้ถ่ายจากระเบียงหรือดาดฟ้าโรงแรมแถวนั้น แถมถ่ายสบายไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่น แต่หากใครไม่สนใจดวงไฟที่เป็นโบเก้ในฉากหลัง(อาจจะสวยก็ได้นะ) แนะนำมุมบนเขาพระตำหนัก , สทร. หรือ ซอยนาเกลือ 20,24 หรือบริเวณ ดุสิตธานี
ถึงแม้อย่างนั้นก็ได้ถ่ายบรรยากาศหน้าหาดก่อนเวลาจุดพลุจริง ด้วยขนาดที่ไม่หนัก ซูมได้ 400mm พกพาง่ายทำให้ติดกระเป๋าไว้ได้โดยไม่เป็นภาระแต่อย่างใด
ถ่ายด้วยระยะ 400mm ครอปภาพเข้ามา และทำ Super Resolution ใน CameraRaw
ทำความเข้าใจเทคนิคการถ่ายภาพพลุ #TSBfireworks
TSBfireworks ย่อมาจาก Time and Stepfocus with shutterBulb หลักสำคัญคือต้องหมุนโฟกัสเป็นจังหวะ ในเวลาที่เหมาะสม(แล้วแต่สภาพแสง) ด้วยชัตเตอร์บี บทความนี้เราพูดถึงระดับเบสิค 2 จังหวะกันก่อน (ขั้นสูงคือมากกว่า 2 จังหวะ หรือ วนไปวนมา ก็จะได้รูปแบบพลุต่างกันออกไป)
วิธีนี้ยากตรงที่ ระหว่างถ่ายเราจะต้องหมุนโฟกัสเป็น 2 จังหวะเป็นอย่างน้อย ให้นานพอที่ฉากหน้าจะชัดแล้วค่อยหมุนออก ซึ่งตรงนี้ปัจจัยเยอะ ระบุเป็นเวลาไม่ได้ เมื่อคิดว่านานพอแล้วจากนั้นให้ปล่อยชัตเตอร์ ในบางครั้งเราอาจจะหมุนซูมเพื่อเปลี่ยนเฟรมภาพ ข้อควรระวังคือ ตำแหน่งของสเกลโฟกัสจะเปลี่ยนไปจากเดิมในเลนส์หลายๆตัว
หลักความสำคัญของ TSBfireworks จะต่างจาก Defocusedfireworks ตรงที่ TSBfireworks นั้นจะมีส่วนที่ชัดในภาพเช่นคนในฉากหน้า ตัวพลุจะเบลอ(แต่ดูเหมือนชัด) ส่วน Defocusedfireworks จะเบลอตัวพลุให้สวยงามตามจินตนาการ แน่นอนความยากจะต่างกัน
Defocusedfireworks ระหว่างถ่ายเราจะต้องหมุนโฟกัส(เข้าหรือออกจาก อินฟินิตี้ ก็ได้) ตรงนี้ง่ายเพราะหมุนยังไงก็ได้ภาพแน่นอน แต่ความยากคือ เราจะต้องไม่ล็อคหัวบอล แล้วขยับกล้องไปมาให้ตรงตำแหน่งที่พลุระเบิด เดาตำแหน่งล่วงหน้า โดยที่ไม่ต้องครอปภาพเยอะเกินไป
แต่ทั้งสองวิธีมี กฏอย่างนึงที่พี่ตี๋คิดว่ามันเหมือนกันคือ “การเบลอพลุให้ดูเหมือนไม่ได้เบลอ” หลักนี้ทำให้ภาพออกมาสวย เพราะฉะนั้นการเลือกฉากหลังนั้นสำคัญ หากมีตึก หรือคนเป็นฉากหน้าหรือหลังในภาพ องค์ประกอบก็ควรจะชัดไม่ใช่เบลอไปพร้อมกับพลุ หรือไม่แล้วก็ซูมเข้าไปแต่ตัวพลุล้วน ๆ ให้ฉากหลัง ดำไป
การตั้งค่า วิธีการถ่าย
วิธีถ่ายให้โยนหลักการถ่ายพลุแบบปกติทิ้งไปได้เลยครับ รวมถึงโยนสายลั่นชัตเตอร์ทิ้งไปซะ จำไว้ว่าพลุสั่นคือสีสรรครับ 55+ (แต่ถ้าหมุนดีดีก็ไม่สั่นนะครับ)
ตั้งค่ากล้อง
- F 2.8 ก็สามารถถ่ายได้ไม่มีปัญหา ISO ที่แนะนำยังเป็นที่ 100 อยู่ครับ
ปกติแล้วเราใช้ f8 f11 เพื่อจะเก็บพลุเป็นเซต ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสได้พลุโดยภาพไม่ Over แต่คราวนี้เราเก็บพลุเป็นดอก ๆ ซึ่งบางดอกก็สว่างน้อยเอฟกว้างสวยกว่า บางดอกสว่างเยอะเอฟกว้างจะ Over ส่วนตัวความสนุกคือ เราจะปรับเอฟ ไปตลอดการถ่าย และโบเก้แต่ละเอฟก็ต่างกัน แต่หากใครเอาชัวก็ปรับเอฟแคบได้ ส่วนตัวพี่ตี๋ใช้มาก ๆ ก็แค่ f5.6 f6.3
- ใช้ Shutter Bulb การควบคุมการเปิดปิด ชัตเตอร์นั่นสำคัญ กดชัตเตอร์เมื่อจังหวะพลุยิง ปล่อยชัตเตอร์เมื่อเราได้ภาพที่ต้องการแล้ว ห้ามใช้ชัตเตอร์แบบ fix 1, 2,3วินาทีเด็ดขาด อาจจะทำให้พลุลูกอื่นเข้ามาซ้อนในภาพที่ดีของเราได้
เรามาเริ่มถ่ายพลุกันที่เทคนิค Defocused Fireworks กันก่อนน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่าเพราะมันไม่ซับซ้อน
เทคนิค Defocused Fireworks
- ใช้หัวบอลแบบที่มีระบบปรับหนืด ทำให้กล้องยังสามารถขยับได้ตามแรงของเราแต่เมื่อเราปล่อยมือกล้องจะอยู่นิ่ง ๆ ทำให้เราสามารถหมุนกล้องขึ้นลงตามตำแหน่งพลุได้ และเมื่อกดชัตเตอร์กล้องจะนิ่งพอที่ทำให้เราได้ภาพ โดยใช้มือขวาขับที่กริป และมือซ้ายประคองเลนส์พร้อมแพนกล้องตามพลุ
- มือขวาเตรียมกดชัตเตอร์ที่กล้อง มือซ้ายหมุนโฟกัส และพร้อมจะหมุนระยะซูมเมื่อพลุมีขนาดเล็กหรือใหญ่จะได้ไม่ครอปภาพเยอะเกินไป
- เมื่อเล็งพลุได้พอดีแล้วให้กดชัตเตอร์ เทคนิคที่พี่ตี๋ใช้จะไม่มองที่ LCD หรือ Viewfider เลย ส่วนตัวพี่ตี๋จะมองพลุบนท้องฟ้าแล้ว หมุนกล้องไปหาวิธีนี้ต้องแม่นยำมุมกล้องพอสมควร แต่ข้อดีคือเราจะเห็นพลุลูกอื่น ๆ บนท้องฟ้า แต่ถ้ามองแต่ LCD จะทำให้ไม่เห็นพลุล่วงหน้า
- หมุนโฟกัสเข้า หรือออกจาก อินฟินิตี้ ภาพที่ได้จะต่างกัน และไม่ว่าเราจะหมุนโฟกัสต่อเนื่องหรือหยุดเป็นจังหวะ ๆ ก็ไม่ผิด ซึ่งจะก็ได้ภาพที่ต่างกันแล้วแต่ชอบ
- หมุนออกจากอินฟินิตี้ พลุจะเรียวเล็กไปใหญ่เหมือนลูกศรวิ่งออกจากแกนกลาง
- หมุนเข้าหาอินฟินิตี้ พลุจะใหญ่ไปเล็กตรงข้ามกัน
- ปล่อยปุ่มชัตเตอร์เมื่อต้องการหรือพลุจบดอกนั้น ๆ
เทคนิค TSBfireworks
- ตั้งขาตั้งกล้อง จัดเฟรมภาพที่เราต้องการ ล็อคหัวบอลให้อยู่กับที่
- ใช้เมนวลโฟกัส ง่ายที่สุดคือตั้งโฟกัสไว้ที่ฉากหน้า (สมมุติว่าคือตำแหน่ง A ) จากนั้นลองทดสอบหาตำแหน่ง B ที่ความเบลอที่ต้องการแล้วจำไว้คร่าว ๆ
- มือขวาเตรียมกดชัตเตอร์ มือซ้ายเตรียมหมุนโฟกัส (จำไว้ด้วยว่าตำแหน่ง A อยู่ตำแหน่งไหนเพื่อถ่ายรูปต่อไป)
- เมื่อพลุที่ต้องการจุด ให้กดชัตเตอร์ เช่นกันกับ เทคนิคก่อนหน้าเราจะมองแต่พลุบนฟ้าจริงเท่านั้น แล้วหมุนโฟกัสตามความรู้สึก อาจจะต้องถ่ายดูสัก 1-2 รูปก่อน
- หมุนโฟกัสเข้า หรือออกจาก ตำแหน่ง A ภาพที่ได้จะต่างกัน และไม่ว่าเราจะหมุนโฟกัสต่อเนื่องหรือหยุดเป็นจังหวะ ๆ ก็ไม่ผิด ซึ่งจะก็ได้ภาพที่ต่างกันแล้วแต่ชอบ แต่การหมุนโฟกัสเข้าหรือออกมีจังหวะที่หยุดไม่เหมือนกัน สมมุติว่าเราถ่ายทั้งหมด 3 วินาที
- กรณีหมุนโฟกัสออกจากจุด A ไป B เราจะค้างที่ A ประมาณ 2 วินาที เมื่อรับแสงพอแล้ว ค่อยหมุนโฟกัสแบบเบามือไปยังจุด B โดยจะต้อง ทำให้ถึงจุด B ใน 1 วินาทีเพื่อให้เบลอตามต้องการ
- กรณีหมุนโฟกัสจากจุด B เข้าไปหาจุด A เมื่อพลุจุดให้กดชัตเตอร์ และหมุนโฟกัสเข้าไปหาตำแหน่ง A ในเวลา 1 วินาที ค้างไว้ที่ A 2 วินาที เพื่อให้จุด A ชัดตามต้องการ
- ปล.อันนี้เป็นแค่ไอเดียให้ลองถ่ายดู ในสถานการณ์จริงยังมีความสว่างของพลุที่ไม่เท่ากัน บางภาพพี่ตี๋อยู่ในจุด A แค่ ไม่ถึงวินาทีก็มี ลองดูครับสนุกดี
- ปล่อยปุ่มชัตเตอร์เมื่อพอใจ
- ต่อยอดหมุนเป็นสเตปมากกว่า 2 จังหวะ จะได้พลุที่แปลกตาไปจากเดิม
ขั้นตอนทั้งหมดนี้ แต่ละรูปพี่ตี๋ใช้เวลาอยู่ราว ๆ 0.5 – 5 วินาทีแล้วแต่พลุ. (ส่วนใหญ่จะ 1.5วินาที)
นอกจากนั้นเราสามารถถ่ายเฉพาะพลุ ให้เบลอแบบที่เราต้องการ แล้วนำมาซ้อนด้วย Lighten เหมือนพลุปกติที่เราถ่ายได้เหมือนกัน โดยการถ่ายพลุเก็บไว้เป็นลูก ๆ แล้วนำมาผสมเหมือนที่เราถ่ายพลุปกติ
ตัวอย่างภาพ
ภาพชุดแรกจะเป็นจากเลนส์นอมอล RF24-105mm F4L IS USM
และชุดที่สองจะเป็นจากเลนส์ RF 16mm f2.8 STM ตัวใหม่ของ Canon กว้าง เล็ก เบา พกพาง่าย
ขอให้สนุกกับการถ่าย ขอบคุณภาพจาก facebook สันต์ทัศน์ บุญสรรค์สร้าง (TeeShutterb 21/12/2564)
Camera : Canon R6
Lens : RF24-105mm F4 L IS USM,RF 16mm f2.8 STM ,RF100-400mm F5.6-8 IS USM
ความเห็นล่าสุด